วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คุณสมบัติของนักศึกษาที่ดี

1. รู้บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ เมื่อเราเป็นนักศึกษา หน้าที่ก็คือต้องขยันมาศึกษา บางคนหายไปตั้งแต่ต้นเทอม มาเฉพาะตอนสอบ หรือ มาสายได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ต้องรู้บทบาทของตนเองว่าเมื่ออยู่ในห้องเรียน คุณคือ นักศึกษา นอกจากนั้น คำว่า “รับผิดชอบ” ควรสะกดให้เป็นและทำให้ได้ อาจารย์มอบหมายงานอะไร ควรทำเต็มความสามารถ และเสร็จตามกำหนด ไม่ใช่รอแต่จะให้เพื่อนทำ เพื่อนช่วย ขอตัวช่วยตลอด ชีวิตนี้ ไม่มีใครช่วยเราได้ตลอดไปหรอกนะคะ ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะช่วยตัวเอง
2. รู้ตนเอง นักศึกษาที่ดี ควรรู้จักตนเองค่ะ การที่เราไม่รู้ตนเอง มองตัวเองแบบผิด ๆ บางที ก็ทำให้ตัวเองและผู้อื่นลำบากได้เหมือนกัน คนที่เรียนไม่เก่งแล้วมีความพยายามตั้งใจเรียน ย่อมน่ายกย่องมากกว่าคนที่คิด ย้ำ!! แค่คิด ว่าตัวเองเรียนเก่ง รู้หมดทุกอย่างในสากล ว่าข้ารู้แล้ว พูดมากเสียจริง พาลหลับดีกว่า คุยกันดีกว่า ไปเข้าห้องน้ำดีกว่า .... แต่พอสอบมา ก็เลยตกดีกว่า....แล้วก็มาหาว่า อาจารย์กลั่นแกล้ง (เพราะในชีวิตนี้ คิดอย่างเดียวว่า ฉันรู้ ฉันดี ฉันถูก )
3. รู้จักการให้ความร่วมมือกับคนอื่น การศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงห้องเรียนสี่เหลี่ยม หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าปกหนังสือเท่านั้น (เพราะยังไม่ทันเปิดอ่านก็หลับ) โลกนี้ยังมีอะไรให้ค้นหามากมาย กิจกรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง ที่นักศึกษาที่ดีควรเข้าร่วม เพราะจะทำให้เราเรียนรู้อะไรมากมาย จากการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รู้จักภาวะผู้นำ ผู้ตาม รู้จักการวางแผน มากมาย บ่อยครั้งที่มักพบว่า นักศึกษาที่เรียนอย่างเดียว มักจะมีปัญหากับการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะคิดว่าข้าเก่งคนเดียว คนอื่นคิดไม่ทัน โง่กว่าเราอยู่เสมอ (หารู้ไม่ว่า เพื่อนเขาก็เบื่อหน้าคุณเช่นกัน) และการคิดแบบนี้ จะส่งผลต่อการทำงานต่อไปในอนาคตด้วยนะคะ
4. รู้จักแบ่งเวลา การเรียนกับการทำกิจกรรมเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันก็จริง แต่นักศึกษาบางคนก็ทุ่มเทในงานกิจกรรม จนลืมว่าหน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การศึกษา ทำกิจกรรมไปมาจนเกรดตก แล้วก็มาโทษว่าทำกิจกรรมแล้วมันแย่อย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งขอค้านเลยค่ะว่าไม่จริง เพราะเคยเห็นนักศึกษาของหลายคน ที่ทั้งทำกิจกรรม เป็นนายกสโมสรฯ เป็นประธานชมรม เป็นนักกีฬาเหรียญทอง แต่ก็เรียนดี ได้เกียรตินิยม ก็มีตั้งเยอะแยะ ทั้งนี้ เนื่องจากเขาเหล่านั้น รู้จักแบ่งเวลาของตนเอง ได้อย่างเหมาะสม รู้จักลำดับความสำคัญของงานนั่นเอง
5. รู้จักคำว่า “น้ำใจ” นักศึกษาที่ดีควรมีน้ำใจทั้งกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน และกับครูบาอาจารย์ การมีน้ำใจต่อเพื่อนไม่ใช่ การให้เพื่อนลอกการบ้าน หรือลอกข้อสอบนะคะ แต่การมีน้ำใจในที่นี้ ก็คือการช่วยเหลือเมื่อเพื่อนลำบาก ในทางที่ถูกต้อง เช่น เห็นเพื่อนเรียนเรียนอ่อนไม่เข้าใจ ก็ติวให้เพื่อน เห็นเพื่อนเศร้าก็รู้จักปลอบโยนเพื่อน ไถ่ถามให้กำลังใจ อย่าเห็นแก่ตัวค่ะ
นอกจากนั้น การมีน้ำใจกับครูบาอาจารย์ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องน่าอาย กลัวเพื่อนประณามหาว่าประจบครูอาจารย์ อย่าไปมองแบบนั้นค่ะ ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจตนา ดังนั้น การมีน้ำใจให้อาจารย์เล็กน้อย เช่น ติดตั้ง LCD ให้ ช่วยอาจารย์ถือหนังสือหรือกระเป๋า ช่วยลบกระดานให้ แค่คุณ ๆ เอ่ย ปาก อาจารย์เขาก็ดีใจไปถึงไหนต่อไหนแล้ว และรับรองวันนั้น บรรยากาศการเรียนแสนสุขี อารมณ์ดีทั้งชั่วโมงแน่คะ
6. รู้จักกาลเทศะ นักศึกษาที่ดีควรรู้จัก กาลเทศะ รู้ว่าควรพูดตรงไหน ควรแต่งกายอย่างไร ไม่ใช่อาจารย์สอนอยู่ก็พูดแทรก แซว หรือถาม แบบทะลุกลางป้อง หรืออยู่ดี ๆ ก็หาวจนเห็นไปถึงลำไส้ใหญ่แถมเสียงดัง ให้ชาวบ้านตื่นตกใจเล่น แต่งกายไม่เหมาะสมจนมองดูแล้ว ไม่เหมือนมาเรียนหนังสือ เดินเข้าออกห้อง ไม่เคยขออนุญาต ปานว่ามาเดินสวนสนาม คนพวกนี้ เป็นบุคคลที่น่าอิดหนาระอาใจ ต่อคุณครูเป็นอย่างยิ่งค่ะ
7. รู้จักเตรียมความพร้อม การมาเรียนหนังสือ ควรมีอะไรอยู่ในหัวบ้าง ไม่ใช่ไม่มีอะไร เอาซะเลย อย่ามาเถียงว่าอยากเป็นแก้วเปล่า แต่ขอให้เป็นแก้วที่มีน้ำอยู่บ้างจะดีกว่า รวมถึงเมื่อเรียนไปแล้ว ก็ต้องหมั่นทบทวน เพื่อให้พร้อมต่อการเรียนเรื่องต่อไป หรือ การนัดสอบแบบไม่ทันตั้งตัว อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ สมุด ดินสอ ปากกา Liquid เครื่องคิดเลข ควรเตรียมให้พร้อม ไม่ใช่ รอแต่จะมายืมเพื่อน จนเพื่อน (และครู) รู้สึก รำคาญ แต่ต้องจำใจให้ แถมยืมไปไม่คืนอีกต่างหาก
การเป็นนักศึกษาที่ดี ไม่ใช่เรื่องยากเลย ทุก ๆ คนก็เป็นได้ และย้ำอีกครั้งว่า นักศึกษาที่ดี ไม่จำเป็นต้องเรียนดี เรียนเก่ง ขอให้คุณเป็นคนที่มีคุณธรรมดี คุณก็สามารถเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้ค่ะ แต่หากบังเอิญเรียนดีควบคู่มาด้วยแล้วล่ะก็ ครูก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ.....ด้วยความปรารถนาดี..
จากใจ ...คุณครูธรรมดาคนหนึ่งผู้หวังดีค่ะ ...